วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประวัติและพันธุ์ไม้ไผ่

ไผ่ (Bamboo)


ไม้ไผ่นับว่ามีความสำคัญในพุทธศาสนาอยู่มากเพราะเป็นพระอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนา เรียกว่า ?เวฬุวนาราม? โดยพระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้ถวาย ต่อมาพระอรหันต์ จำนวน 1,250 รูป ได้มาเฝ้า พระพุทธเจ้าที่พระเจ้าที่พระอารามนี้ เมื่อวันเพ็ญเดือนสาม พระองค์ได้ถือเอาวันนี้เป็นวันประกาศ หลักสามประการของพระพุทธศาสนา เรียกว่า ?โอวาทปาฏิโมก? ชาวพุทธจึงได้ถือว่าวันนี้เป็น วันสำคัญเรียกว่า ?วันมาฆบูชา? สืบเนื่องกันมาตราบเท่าทุกวันนี้

ไม้ไผ่มีอยู่ด้วยกันมากมายหลายชนิด กล่าวกันว่าในโลกนี้มีไม้ไผ่ประมาณ 1,250 ชนิด ส่วนหนึ่งไม้ไผ่จะขึ้น
ได้ดีในประเทศที่มีอากาศร้อน ประเทศไทยและอินเดียก็มีลักษณะทางดินฟ้าอากาศใกล้เคียงกัน ดังนั้น จำนวนและชนิดของไม้ไผ่ในประเทศไทยและอินเดียก็คงไม่แตกต่างกันมากนัก ในประเทศไทย เท่าที่มีผู้สำรวจแล้วปรากฏว่ามีอยู่ด้วยกัน 40 ชนิด ตามทางสัณนิษฐานแล้ว ?เวฬุวนาราม? ควรจะเป็นที่ราบลุ่ม ใช้เป็นทำเลสำหรับสร้างวัด ไม้ไผ่ที่ขึ้นในที่ราบและมีร่มใบพอจะใช้เป็นที่อาศัยได้ ก็มีอยู่ 2 ? 3 ชนิด เช่น ไม้ไผ่ไร่ ซึ่งเป็นไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ ขึ้นเป็นกอแน่น ไม่มีหนาม เมื่อถางใต้โคนแล้ว ก็ใช้เป็นที่พักผ่อนได้อย่างสบาย ชนิดต่อไปก็อาจเป็นไม้ไผ่ป่าหรือไผ่หนาม (Bambusa arundinacea willd.) ก็ขึ้นอยู่ในที่ราบเช่นกัน ชอบขึ้นเป็นกอใหญ่ เป็นกลุ่มติดต่อกันไปเป็นบริเวณกว้าง แต่มีข้อเสียอยู่ที่ว่าเป็นไผ่ ที่มีหนามและมีเรียวซึ่งเต็มไปด้วยหนามออกมานอกกอเกะกะไปหมด ไผ่ป่าแต่ละกอล้วนเป็นกอใหญ่ ๆ ถ้าหากจะริดเรียวไผ่ที่โคนออก ก็จะใช้เป็นที่พำนักได้อย่างดี ซ้ำไผ่ป่ายังทำหน้าที่ป้องกันสัตว์อื่น ๆไม่ให้มารบกวน ด้วย ไผ่อีกชนิดหนึ่งซึ่งควรจะสัณนิษฐานว่าเป็นเวฬุวนารามไว้ด้วยก็คือ ไผ่สีสุก (Bambusa flexuosa Munro) ที่คนไทยนิยมปลูกไว้สำหรับใช้ไม้และใช้หน่อสำหรับรับประทาน เป็นไผ่ที่ชอบขึ้นตามที่ราบ มีกอใหญ่และลำยาว สามารถให้ร่มได้ดี แต่การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติของไผ่สีสุกไม่ค่อยดี นอกจากจะมีผู้นำไปปลูกไว้ ส่วนไม้ไผ่อื่น ๆ นั้นก็เป็นไผ่ที่ชอบขึ้นบนลาดเขา ซึ่งไม่ใช่ทำเลที่เหมาะสำหรับสร้างวัดวาอาราม ที่นี้จึงไม่ขอกล่าวถึง

ไผ่ดำ
ประวัติความเป็นมา
เล่าขานกันมาว่า เป็นไผ่มงคลชนิดหนึ่ง เป็นไผ่ที่แปลกอีกชนิดหนึ่ง เป็นไผ่ที่หากยาก การปลูก เวลาต้นแก่ ก็จะปลูกโดยแยกขุดลำให้มีรากติด นำมาแช่น้ำ เพื่อป้องกัน การสูญเสียน้ำ แล้วนำไผ่ใส่ถุงดำ โดยแกบดำล้วน ๆ นำไผ่มาไว้ในในห้องน้ำ หรือในที่ไม่มีแสงจนมากเกินไป ไผ่ก็จะค่อยเจริญเติบโต และออกหน่อ แล้วนำไปปลูกเหมือนไผ่ทั่ว ๆ ไป แต่หลุมความห่าง ความถี่ ไม่ต้องกว้างหรือลึกมากนัก ให้ดูถุงไผ่เป็นหลักในการขุดหลุม ไผ่ดำจะมีลำที่ไม่ใหญ่มากนักจากการสังเกตการปลูกด้วยตนเอง ลักษณะลำต้น ความสูงของไผ่สูงประมาณ 2-4 เมตร ไม่มีหนาม และใบจะมีน้อยมาก แตกกิ่งก้านไม่มาก กิ่งจะเล็ก (แขนง) ลักษณะลำต้น ช่วงลำต้นอ่อน จะมีสีเขียวคล้ายหยก และเมื่อกิ่งแก่ หรือ จะมีสีดำคล้ายสีต้นอ้อย และจะค่อยดำสนิท ประโยชน์ ใช้เป็นไม้ประดับไว้ในบ้าน เป็นไม้มงคลที่หาดูได้ยาก อีกชนิดหนึ่ง



ไผ่ตงลืมแล้ง
เป็นอาหารอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมรับประทานมาแต่โบราณ โดยใช้หน่ออ่อน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า หน่อไม้ไผ่ตง ซึ่งมีรสหวาน นำไปแกงกับเนื้อไก่ ปลา หรือเนื้อวัว นำไปต้มจืดกระดูกหมู (เมนูนี้นิยมกันมาก) แกงเปรอะ ต้มเป็นผักเคียงใช้จิ้มกับน้ำพริกกะปิ น้ำพริกน้ำปู๋ น้ำพริกแก๋ หรือปรุงอย่างอื่นอีกมากมาย รับประทานอร่อยมาก แต่ไผ่ตงที่พบเห็นและนิยมรับประทานกันเป็นประจำนั้น ส่วนใหญ่แล้ว เปลือกหุ้มหน่ออ่อน หรือ หุ้มหน่อไม้ไผ่ตง จะมีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมทั่วทั้งเปลือก ทำให้เวลาจะแกะเปลือกเพื่อเอาเนื้อในไปใช้ ประโยชน์เกิดอาการรำคาญ ผู้ซื้อรับประทานจึงต้องให้ผู้ขายแกะเปลือกให้ แต่ สำหรับ “ไผ่ตงลืมแล้ง” มีลักษณะพิเศษคือ เปลือกหุ้มหน่ออ่อน จะเกลี้ยงไม่มีขนปกคลุมเลย เวลาแกะเอาเนื้อในจึงสะดวกสบายมาก เป็นไผ่ตงที่มีหน่อตลอดปี น้ำท่วมต้นก็ไม่ตายทนแล้งอีกต่างหาก จะแล้งขนาดไหนยังแทงหน่ออ่อนให้เก็บรับประทาน หรือเก็บขายได้ ตลอดปี จึงถูกตั้งชื่อว่า “ไผ่ตงลืมแล้ง” (ปกติฤดูแล้งไผ่ตงจะไม่มีหน่อ) นอก จากนั้น “ไผ่ตงลืมแล้ง” ยังเป็นหน่อไม้ที่มี กรดยูริก ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเกาต์น้อยมาก จึงสามารถรับประทานได้อย่างเต็มที่ และที่สำคัญเนื้อไม้ หรือลำไผ่ของ “ไผ่ตงลืมแล้ง” ยังเป็นไผ่ที่มอดไม่กินอีกด้วย เวลานำไปสร้างบ้านไม้ไผ่ หรือทำเฟอร์นิเจอร์ จึงมีความทนทานได้นานกว่าไม้ไผ่ชนิดใดๆ ไผ่ตงลืมแล้ง เป็นพันธุ์นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียนานกว่า 5 ปีแล้ว อยู่ในวงศ์ GRAMINEAE เป็นไม้ยืนต้นตระกูลหญ้า ต้นสูงได้กว่า 20 เมตร ลำต้นตรง เป็นข้อหรือปล้อง ขนาดของลำต้นใหญ่ เนื้อไม้หนา ยอดอ่อน หรือ หน่ออ่อนมีเปลือกหุ้มสีเขียว ไม่มีขนตามที่กล่าวข้างต้น โผล่เหนือดินเรียกว่า หน่อไม้ ไผ่ตง เนื้อในรสชาติหวานกรอบอร่อยมาก ขนาดของหน่อโตเต็มที่มีน้ำหนักเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 5-7 กิโลกรัมต่อหัว มีหน่อตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยหน่อ การปลูก “ไผ่ตงลืมแล้ง” มีลักษณะทนต่อทุกสภาพอากาศ ทนแล้งได้ดี น้ำท่วมไม่ตาย ปลูกได้ในดินทั่วไป และมีหน่อให้เก็บรับประทาน หรือเก็บขายตลอดปี จึงเหมาะที่จะปลูกเป็นพืชครัวและพืชเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง สรรพคุณ ทางสมุนไพรของไผ่ตงทุกชนิด คือ ใบแห้ง ต้มน้ำดื่มขณะอุ่นเป็นยาขับปัสสาวะ ขับและฟอกโลหิตระดูเสียในสตรี แก้มดลูกอักเสบ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ราก ขับปัสสาวะ และ แก้ไตพิการดีมากครับ.



ไผ่ปักกิ่ง (ไผ่จีน)
ประวัติความเป็นมา
เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศจีน รายละเอียดเชิงวิชาการ ไม่ชัดเจนเพียงศึกษาจากการสังเกตุ การเจริญเติบโต ไผ่จีน ไผ่ปักกิ่ง เรียกชื่อตาม คำบอกเล่าของคนจีนที่นำต้นไผ่เข้าแล้วนำถวายวัดในเขตอำเภอสามชุก จ.สุพรรณบุรี ลักษณะลำต้น ลำต้นสีเหลืองอมเขียว กาบหุ้มลำต้นถี่และหลุดง่าย ส่วนโคนจะมีรากเล็กๆออกมาเป็นระเบียบสวยงาม ไม่ค่อยแตกกิ่ง จะไม่มีหนาม ลำตรงสวยงาม ลำสูงประมาณ 6-10 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 นิ้ว ปล้องห่างประมาณ 8-12 นิ้ว ภายในมีรูเล็กประมาณ เส้นผ่า ศูนย์กลาง 1-2 นิ้ว กลวงตลอดทั้งหน่อ ลักษณะใบ ใบจะใหญ่มากแต่สั้นไม่ยาว โคนใบจะกว้างประมาณ 1.5-2 นิ้ว ไม่แข็งเหมาะสำหรับใช้ในการห่อขนมได้ การปลูก เนื่องจากไผ่ปักกิ่งเป็นไผ่ขนาดใหญ่ ระยะปลูกควรเป็น 5 คูณ 5 เมตร ขุดหลุมให้ได้ขนาด 50 คูณ 50 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร ไผ่เจริญเติบโตดีมาก โตเร็ว โดยเฉพาะในเมืองไทย อากาศไม่หนาวจัดและให้หน่อดกมากในแต่ละกอรอบก่อไผ่จะให้หน่อประมาณ 8-10 หน่อ ลำไผ่ขึ้นตรงไม่มีหนาม การเกิดหน่อกระจายรอบ ๆ ต้น ห่างประมาณ 4-5 นิ้ว ชอบปุ๋ยคอก การให้น้ำประมาณ 1-2 ปิ๊บ/วัน การตัดหน่อ จะทำการตัดหน่อบริโภค ซึ่งขณะนี้มีจำหน่ายไม่มากนัก ทำการแปรรูป จะนำไปสู่การ ทำหน่อไม้แห้งที่ไม่แข็ง ไม่เหนียว เมื่อจะบริโภคประกอบอาหารก็อ่อนนุ่ม หน่อจะกลวง แต่ความอร่อย ของเนื้อหน่อไม้จะอร่อยกว่า ชิมสด ๆ จะมีขื่นนิดหน่อยเท่านั้น ถ้านำไปต้มหมู แกง หรือหั่นตามยาว ผัดจะอร่อยมาก เนื้อของหน่อจะเป็นเส้นหยาบนิดหน่อย ทำให้เวลาต้มหรือแกงจะดูดซับเข้าเนื้อดี จึงบริโภคอร่อยมาก การใช้ประโยชน์ 1. ลำไผ่จะใช้กับงานเฟอร์นิเจอร์ ได้สวยงามมากเพราะลำไผ่ตรงสีสวย และใช้กับ การก่อสร้าง เช่น โรงเรือนไม้ไผ่ บ้านไม้ไผ่ รั้วไม้ไผ่ และเก้าอี้ไม้ไผ่ 2. ใบมีขนและใหญ่ ไม่เหมาะเป็นอาหารสัตว์ ริมใบจะคม นำมาทำความสะอาดแล้วใช้ห่อขนม เช่น บ๊ะจ่าง ขนมตาล เป็นต้น 3. ซอ หรือโคนไผ่ นำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์สวย โคนไผ่จะให้รูปร่างที่แปลก สวยงาม 4. หน่อไม้ นอกจากบริโภคปกติ แล้วเมื่อมีมากจะทำหน่อไม้แห้งเพราะมีคุณสมบัติ อ่อนนิ่ม สมอย่างยิ่ง ราคาหน่อไม้สดกิโลกรัมละ 50-60 บาท 1 หน่อน้ำหนักประมาณหน่อใหญ่ หนักถึง 5- 7 ก.ก. หน่อเล็กประมาณ 3-4 ก.ก.





ไผ่หม่าจู
ประวัติความเป็นมา
ตามเล่าขาน นำมาจากประเทศจีน เจ้าหน้าที่ดอยอ่างขางไปซื้อมาปลูกที่ดอยอ่างขางตามโครงการฯและได้นำเงินส่วนตัวซื้อมาขยายพันธุ์ ลำต้นจะไม่สูงมาก ประมาณ ๓ เมตร ลักษณะ มีสีเขียวตลอดทั้งลำ แตกกิ่งตั้งแต่โคนต้น จนถึงปลาย ใบจะสั้น หน่อจะมีรถหวาน อร่อยมาก ชอบที่โล่ง ไม่มีร่ม ให้หน่อรอบลำต้น หน่อจะมีสีเขียวสวยงาม สีเขียวเหมือนสีหยกแก่หนักประมาณ ๒ กก. หวานอร่อยดี หอม น่ารับประทาน จะเป็นไผ่ที่ไม่สูงพุ่มสวยงาม ประมาณ ๒ เมตร จะไม่กินพื้นที่ ปลูกเป็นไม้ประดับก็ได้ การให้หน่อจะดก ต้องหมั่นรถน้ำ หน่อจะอยู่ห่างลำต้น เป็นไผ่ที่แปลก อีกอย่างหนึ่งน่ะจะบอกให้ การปลูกก็จะปลูกคล้ายไผ่ปักกิ่ง ใต้หวั่น




ไผ่ทอง
ลักษณะลำต้นเป็นสีเหลืองทอง ใบสีเขียวใบเล็ก ด้านล่างใบเป็นขนนุ่มมือต่างกับไผ่ปักกิ่ง ใช้เป็นไม้ประดับ ให้ความร่มรื่นเป็นไม้มงคล
ไม้ไผ่กับวัฒนธรรม



คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย รักธรรมชาติ ยิ้มแย้มแจ่มใสใจดี รักศิลปะ เสียงเพลงและดนตรี มีนิสัยอ่อนโยนอ่อนน้อมถ่อมตนและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดีมีภูมิปัญญาสามารถนำสิ่งที่ใกล้มือในท้องถิ่นมาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือใช้สอยในชีวิตประจำวันได้อย่างสวยงามโดยเฉพาะไม้ไผ่ เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์โดยตรงหรือแปรรูปให้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิต คนไทยรู้จักคุ้นเคยและมีความผูกพันอย่างชนิดแยกไม่ออกมาตั้งแต่เกิดจนตาย กลายเป็นวัฒนธรรมสืบทอดกันต่อมา "ไผ่" เป็นชื่อพันธุ์ไม้พวกหนึ่ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ กล่าวว่า ไผ่เป็นชื่อพรรณไม้พวกหนึ่ง ( Bambusa spp.) อยู่ในวงศ์ Graminese เป็นกอ ลำต้นสูง และเป็นปล้องๆ มีหลายชนิดมากกว่า ๑,๒๕๐ ขนิด ๕๐ ตระกูล เช่น ไผ่จีน ไผ่ป่า ไผ่สีสุก ไผ่เลี้ยง ไผ่ดำ เป็นต้น ไม้ไผ่เป็นพันธุ์ไม้ที่มีลักษณะเฉพาะที่แปลกไปจากพืชและพันธุ์ไม้อื่นๆ เพราะแม้ว่าไผ่มีลักษณะที่ควรจะเป็นต้นไม้ แต่ไผ่กลับถูกจัดเป็นหญ้าประเภทหนึ่ง และเป็น "หญ้ายักษ์" เพราะลำต้นสูง กลวงเป็นปล้องๆ หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าใบไผ่คล้ายกับใบหญ้า ไผ่ขยายพันธุ์ด้วยการแตกหน่อ เพราะหนึ่งในร้อยปีไผ่จึงอาจจะออกดอกสักครั้ง และหลังจากออกดอกแล้วก็ตาย ไผ่จะเติบโตอย่างรวดเร็วและจะโตเต็มที่ภายในสองเดือน และจะคงขนาดเช่นนั้นไปตลอดชีวิตของมัน ลำต้นของไผ่จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๐.๗ - ๗ นิ้ว สูง ๑ - ๖๐ ฟุต ไผ่ขึ้นได้ทั้งในบริเวณที่มีอากาศอบอุ่นและอากาศเย็นต่ำกว่าศูนย์องศา ไผ่จึงเป็นไม้ที่มีมากในบริเวณเอเซียและแปซิฟิค อเมริกาใต้บางท้องถิ่น

คุณลักษณะพิเศษของ "ไผ่"

๑.ไผ่โตเร็วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ภายในเวลา ๑ - ๔ ปี และใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่รากไผ่เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นยารักษาโรคได้ หนิอไผ่หรือหน่อไม้ใช้ทำอาหาร กาบหรือใบไผ่ใช้ห่ออาหารหรือหมักปุ๋ย กิ่งและแขนงใช้ทำรั้ว ลำต้นใช้ประโยชน์ได้สารพัดอย่าง ตั้งแต่นำมาใช้ปลูกสร้างที่พักอาศัยและแปรรูปเป็นเครื่องจักสานและเครื่องมือเครื่องใช้นานาชนิดจนถึงนำมาใช้เกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย
คังนั้นชาวนาจึงมักปลูกไผ่ตามหัวไร่ปลายนา และปลูกไว้รอบๆบ้าน เพื่อใช้เป็นรั้วบ้านและป้องกันพายุ เพราะไม้ไผ่จะลู่ตามลมไม่หักโค่นเหมือนไม้อื่น หากปลูกไผ่ไว้ตามริมแม่น้ำลำคลอง จะช่วยชะลอความเร็วของกระแสน้ำไม่ให้ดินพัวทะลายง่าย นอกจากนี้ไผ่ยังใช้เป็นอาหารในครัวเรือนได้ด้วย


เปลสานสำหรับเด็กอ่อน


ขลุ่ยญี่ปุ่น

๒. ไผ่มีลำต้นตรงและกลวงคล้ายหลอดและมีปล้องข้อคั่นเป็นปล้องๆ จึงใช้เป็นภาชนะประเภทกระบอก ถ้วย สำหรับใส่ของเหลว เช่นใช้เป็นกระบอกน้ำ กระบอกน้ำตาล ซึ่งใช้กันทั่วไปในหลายประเทศ ลักษณะพิเศษของไม้ไผ่นี้สามารถนำมาใช้สร้างอาคารที่พักอาศัยได้ โดยนำมาทำเป็นโครงสร้างของบ้านเรือน ใช้เป็นพื้นเรือน ฝาเรือน ใช้ทำรางน้ำ ท่อน้ำ และทำเครื่องดนตรีประเภทขลุ่ยได้ดีอีกด้วย


ปลอกมีดเขียนลวดลาย



หวี

๓. เนื้อไผ่เป็นเส้นตรงมีความยืดหยุ่นในตัวเองและสามารถคินตัวสู่สภาพเดิมได้ เมื่อนำไม้ไผ่มาแปรรูปก็จะสามารถใช้ประโยชน์ได้ดี เพราะเนื้อไม้ไผ่เป็นเส้นตรง นำมาจักเป็นปื้นบางๆ หรือเหลาเป็นเส้นได้ดี จึงใช้ทำเครื่องจักสานนานาชนิดได้ ทั้งเครื่องจักสานที่มีขนาดใหญ่ แข็งแรงมั่นคง สำหรับใช้งานหนักจนถึงเครื่องจักสานขนาดเล็กที่มีความปราณีตบอบบาง และเพราะคุณสมบัติในที่มีความยืดหยุ่น จึงเหมาะที่จะใช้เป็นเครื่องหาบหรือหาม เช่น คาน คันกระสุน คันธนูและเมื่อแปรรูปเป็นตอกก็ยังมีความยืดหยุ่นคืนรูปทรงเดิมได้ง่ายจึงทำให้ภาชนะจักสานที่ทำจากไผ่มีคุณลักษณะพิเศษต่างไปจากภาชนะที่ทำจากวัตถุดิบชนิดอื่น

๔. ไม้ไผ่มีความสวยงามในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นผิวที่มีสีต่างๆ กันเมื่อแห้งแล้วมักจะมีสีเหลืองอยู่เช่นนั้นตลอดไป ด้วยคุณสมบัติพิเศษนี้ ชาวเอเซียจึงใช้เหล็กหรือโลหะเผาไฟจนร้อนแล้วเขียนตัวอักษรหรือลวดลายลงบนผิวไม้ไผ่ ( Bamboo Pyrographic ) เช่นจีนจารึกบทกวีบนผิวไม้ไผ่ ชาวญี่ปุ่นใช้เขียนชื่อเจ้าของบ้านแขวนไว้หน้าบ้านและจารึกบทกวีแขวนไว้สองข้างประตูเรือนน้ำชา ( Tea House ) ชาวเกาหลีใช้เขียนเป็นลวดลายบนเครื่องใช้ เช่นเดียวกับที่ชาวบาตัก ( Batak) ในประเทศอินโดนีเซีย ใช้เหล็กเผาไฟ ขูด ขีด เขียน ลงบนกระบอกไม้ไผ่ สำหรับเก็บยาหรือทำเป็นปฏิทิน ในขณะที่ชาวบาหลีใช้จารลงบนผิวไผ่เป็นแผ่นๆ เพื่อใช้เป็นคัมภีร์ในศาสนาตน นอกจากไม้ไผ่จะมีผิวสวยแล้ว เนื้อไผ่ยังมีลักษณะพิเศษต่างจากเนื้อไม้อื่นคือ มีเสี้ยนยาวขนานกันเป็นเส้น จึงแปรรูปเป็นเส้น เป็นปื้น หรือเหลาให้กลมได้ง่าย และเมื่อแก่เต็มที่แล้วจะเป็นเส้นละเอียดแข็ง มอดแมลงไม่กินจนมีผู้กล่าวว่า เครื่องจักสานไม้ไผ่นั้น ผู้สานสามารถสานให้เป็นรูปทรงแปลกๆ แตกต่างกันได้มากมาย จนเครื่องจักสานบางชิ้นมีรูปทรงและผิวสวยงามดุจงานประติมากรรมสมัยใหม่ทีเดียว



งานศิลปหัตถกรรมจากไม้ไผ่ของมูลนิธิศิลปาชีพ
ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ





ไม้ไผ่ในชีวิตคนเอเซียและแปซิฟิค

จากคุณลักษณะพิเศษของไม้ไผ่ดังกล่าวคนเอเซียและแปซิฟิกจึงนำไม้ไผ่มาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดจะมีรูปแบบและประโยชน์ใช้สอยแตกต่างกันไปตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่นแต่ละประเทศต่างกันไป บางชนิดมีคุณค่าทางศิลปะและสุนทรียภาพควบคู่ไปกับประโยชน์ใช้สอย และมีความเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อขนบประเพณีของผู้สร้างและผู้ใช้ในแต่ละถิ่นแต่ละประเทศ


ศิลปหัตถกรรมจากไม้ไผ่ของญี่ปุ่น



ชาวจีนเรียกไม้ไผ่ว่า "ชู" (Chu) ไผ่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวจีนมาแต่อดีต ตั้งแต่ใช้หน่อไม้เป็นอาหาร ใช้ทำตะเกียบ ใช้สร้างที่อยู่อาศัย ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ ใช้เป็นอาวุธและเป็นเครื่องดนตรี ตลอดจนทำไม้เรียว ทำเป็นเชือกเพื่อผูกมัดมนุษย์เข้าด้วยกัน

ชาวญี่ปุ่นเรียกไม้ไผ่ว่า "ทา-เก" (ta-ke) และในประเทศญี่ปุ่นมีไม้ไผ่ชนิดต่างๆถึง ๔๐๐ - ๕๐๐ ชนิด ชาวญี่ปุ่นนำไม้ไผ่มาใช้ประโยชน์มากมายมาแต่สมัยโบราณ กล่าวกันว่าเมื่อสองร้อยปีมาแล้ว ชาวญี่ปุ่นจะจารึกชื่อเจ้าของบ้านไว้บนท่อนไม้ไผ่แขวนไว้หน้าบ้าน บอกจากนี้ชาวญี่ปุ่นยังนำไม้ไผ่มาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้และงานหัตถกรรมหลายชนิดเป็นชาติหนึ่งในเอเซียที่ใช้ไม้ไผ่ให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง





ที่อยู่อาศัย


เรือนข้าว จ.นราธิวาส

ไม้ไผ่ที่นำมาทำเป็นที่อยู่อาศัย คุณสมบัติพิเศษของไม้ไผ่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องแปรรูปและแปรรูป และเป็นไม้ที่มีความคงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศได้ดี จึงมีการนำไม้ไผ่มาสร้างเป็นบ้านเรือนที่พักอาศัยกันทั่วไป เช่นเรือนไม้ไผ่ในประเทศไทยที่เรียกว่า "เรือนเครื่องผูก" ที่สร้างด้วยไม้ไผ่แทบทั้งหมด ตั้งแต่ใช้เป็นโครงสร้างและส่วนประกอบของบ้านเรือน ได้แก่ ใช้ลำไม้ไผ่เป็นเสา โครงหลังคา และใช้ไม้ไผ่แปรรูปด้วยการผ่าเป็นซีกๆ เป็นพื้นและสานเป็นแผงใช้เป็นฝาเรือน เป็นต้น

ชาวชนบทที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีนักมักสร้างเครื่องเรือนผูกเป็นที่อยู่อาศัย เพราะสามารถสร้างได้เองโดยใช้ไม้ไผ่และวัสดุที่มีในท้องถิ่นของตนมาประกอบกันเป็นเรือนที่พักอาศัย รูปแบบของเรือนเครื่องผูกจะแตกต่างกันไปตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่นโดยทั่วไปจะใช้ไม้ไผ่เป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง


บ้านชนบทริมน้ำสร้างด้วยไม้ไผ่


บ้านในชนบทสร้างด้วยไม้ไผ่

การใช้ไม้ไผ่สร้างเป็นที่พักอาศัยนี้มีอยู่ทั่วไปในประเทศที่มีไม้ไผ่ ซึ่งอาจจะใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างของบ้านเรือนโดยตรงหรือใช้ประกอบกับวัสดุอื่น เฉพาะประเทศในเอเซียนั้นมีหลายท้องถิ่นที่ใช้ไม้ไผ่สร้างเป็นบ้านเรือน เช่น บ้านของชาวสุราเวสี (Surawesi ) และบ้านเรือนของชาวเกาะต่างๆ ในประทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย นอกจากการใช้ไม้ไผ่สร้างที่อยู่อาศัยแล้วยังใช้ไม้ไผ่สร้างสะพาน ทำเป็นแพหรือลูกบวบเป็นที่พักอาศัยในแม่น้ำลำคลองด้วย และรวมทั้งการนำไม้ไผ่มาทำรั้วบ้าน ทำคอกวัว คอกควาย เล้าเป็ด เล้าไก่ ด้วยว่าไม้ไผ่เป็นสิ่งหาง่ายในท้องถิ่น



เครื่องมือเครื่องใช้

ตะกร้าหิ้วจังหวัดราชบุรี
งานไม้ไผ่ที่ใช้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือนและชีวิตประจำวัน งานไม้ไผ่ประเภทนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับชีวิตมนุษย์มาช้านานและอาจจะเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่ง เฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันออกนั้น มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้ไผ่มาแต่โบราณ เช่น ตะเกียบไม้ไผ่ของจีน เป็นเครื่องมือการกินอาหารที่ทำอย่างง่ายๆ แต่ใช้ประโยชน์ได้อย่างดี ก่องข้าวและกระติบสำหรับใส่ข้าวเหนียวของชาวอีสานและชาวเหนือ เป็นตัวอย่างที่ดีซึ่งแสดงให้เห็นความชาญฉลาดในการนำไม้ไผ่มาแปรรูปเป็นภาชนะสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่งได้ดีเท่าก่องข้าวและกระติบที่สานด้วยตอก
นอกจากนี้ยังใช้ทำเครื่องใช้สอยในครัวเรือน เช่นตะกร้า กระจาด สาแหรก กระบอกเป่าไฟ กระชอน ตะเกียบ ชะลอม ที่เสียบมีด กระบอกเก็บสาก ทัพพี ช้อน ตะหลิว ทำพัด ตับปิ้งปลา ทำฟืน ด้ามเครื่องมืออื่นๆ เครื่องจักสาน ของที่ระลึกเครื่องเขิน ทำโครงร่ม ไม้กวาด ใช้เป็นไม้ค้ำยันในการทำการเกษตร เช่นไม้ค้ำต้นส้ม ค้ำผัก ค้างถั่ว ฯลน ไม้ไผ่ยังใช้เป็นหลักปักกองฟาง ใช้ทำเข่งบรรจุผลไม้ บรรจุใบชา ของป่าต่างๆ ทำหุ่นหรือลูกบวบหนุนเรือนแพล่องไม้ไม่ให้จม บุ้งกี๋ กระพ้อม เสียม เสื่อลำแพน ทำท่อ ทำโต๊ะ เก้าอี้ และเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายในบ้าน

ก่องข้าวภาคเหนือ

กระจาดภาคกลาง

ปั้นใส่ใบชาของภาคเหนือ

ก่องข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พัด





เครื่องมือประกอบอาชีพและเครื่องเรือน

ไซ เครื่องมือสำหรับดักปลา ใช้วางดักปลาที่ร่องน้ำไหล
งานไม้ไผ่ที่ใช้ในการประกอบอาชีพ งานไม้ไผ่ประเภทนี้มีใช้กันอย่างกว้างขวาง ในสังคมเกษตรกรรมของชาวเอเซีย เพราะไม้ไผ่เป็นวัสดุที่หาได้ไม่ยากและชาวบ้านสามารถทำใช้สอยได้เอง เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้นเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนาทำไร่จำนวนมากจึงทำมาจากไม้ไผ่ เช่นคราด คานหลาว คานกระบุง กระพ้อม ครุ (ครุหรือแอ่ว ของภาคเหนือใช้สำหรับตีหรือฟาดข้าว ให้เมล็ดข้างหลุดออกจากรวง เป็นเครื่องจักสานไม้ไผ่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด) เลื่อน วี โพง ฯลฯ
นอกจากนี้ยังใช้ทำเครื่องใช้สอยในครัวเรือน เช่นตะกร้า กระจาด สาแหรก กระบอกเป่าไฟ กระชอน ตะเกียบ ชะลอม ที่เสียบมีด กระบอกเก็บสาก ทัพพี ช้อน ตะหลิว ทำพัด ตับปิ้งปลา ทำฟืน ด้ามเครื่องมืออื่นๆ เครื่องจักสาน ของที่ระลึกเครื่องเขิน ทำโครงร่ม ไม้กวาด ใช้เป็นไม้ค้ำยันในการทำการเกษตร เช่นไม้ค้ำต้นส้ม ค้ำผัก ค้างถั่ว ฯลน ไม้ไผ่ยังใช้เป็นหลักปักกองฟาง ใช้ทำเข่งบรรจุผลไม้ บรรจุใบชา ของป่าต่างๆ ทำหุ่นหรือลูกบวบหนุนเรือนแพล่องไม้ไม่ให้จม บุ้งกี๋ กระพ้อม เสียม เสื่อลำแพน ทำท่อ ทำโต๊ะ เก้าอี้ และเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายในบ้าน

ครุหรือแอ่ว ของภาคเหนือใช้สำหรับตีหรือฟาดข้าว

คราด ใช้สำหรับกวาดฟางข้าวหรือหญ้าแห้ง

หลัว สานจากไผ่




งานไม้ไผ่ที่ใช้เป็นเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่ง งานไม้ไผ่ประเภทนี้มีใช้ทั่วไปในหลายประเทศ เช่น ทำเป็นโต๊ะ เก้าอี้ เตียงนอน แม้บางชนิดจะดูเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ ไม่มีราคามากนัก แต่ใช้ประโยชน์ได้ดีเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ เช่น คนไทยใช้ไม้ไผ่ทำแคร่ ทำเปลไว้นอนเล่นในฤดูร้อน เพราะแคร่และเปลไม้ไผ่นั้นโปร่ง อากาศผ่านได้จึงไม่ร้อนกล่าวกันว่า เมื่อครั้งที่พ่อค้าชาวดัชท์ (Datch) เข้ามาค้าขายในตะวันออกไกลครั้งแรก พวกเขารู้สึกประหลาดใจมากที่เห็นคนพื้นเมืองนอนอยุ่บนเตียงไม้ไผ่ที่พื้นเตียงทำด้วยไม้ไผ่เป็นซีกๆ เปิดโล่งให้ลมผ่านได้ เตียงลักษณะนี้จะช่วยคลายร้อนได้มากในคืนที่มีอากาศร้อน เตียงชนิดนี้เป็นที่มาของคำว่า "bamboo princess" ต่อมากลายเป็นคำว่า " Datch wife" เป็นคำที่รู้กันในหมู่ชาวตะวันออก เครื่องเรือนไม้ไผ่นั้นมีความงดงามที่เรียบง่าย แฝงแนวคิดและปรัชญาแบบตะวันออกด้วยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวญี่ปุ่นใช้ไม้ไผ่เป็นเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่งบ้านอย่างเห็นคุณค่ามาช้านาน เช่นไม้ไผ่ทำเป็นฝาบ้าน รั้ว ประตูหน้าต่าง มู่ลี่ เป็นต้น



เครื่องดนตรีและอาวุธ


ขลุ่ย
งานไม้ไผ่ที่ทำเป็นเครื่องดนตรี เครื่องดนตรีที่ทำด้วยไม้ไผ่เป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่อย่างหนึ่งของชาวเอเซียเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดนตรีที่ทำจากลำไม้ไผ่อย่างง่ายๆ ประเภท "ขลุ่ย" นั้นมีอยู่หลายประเทศ ได้แก่ ขลุ่ยไทย ขลุ่ยญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้เครื่องดนตรีที่ทำด้วยไม้ไผ่ที่เก่าแก่อีกประเภทหนึ่ง คือเครื่องดนตรีที่ใช้ตีลงบนไม้ไผ่อย่าง "ระนาด" ของไทยนั้นมีอยู่ในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเรียกว่า "kamelan" เครื่องดนตรีทำจากไม้ไผ่ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ อังกะลุง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้เสียงกระทบกันของไม้ไผ่ที่มีขนาดต่างกัน ทำให้เกิดเสียงต่างกัน อังกะลุง นับเป็นเครื่องดนตรีที่เกิดจากคุณสมบัติพิเศษของไม้ไผ่อย่างแท้จริง
งานไม้ไผ่ที่ใช้เป็นอาวุธ งานไม้ไผ่ประเภทนี้ ทำขึ้นจากคุณสมบัติพิเศษของไม้ไผ่ ที่มีเนื้อเป็นเสี้ยนยาวตลอดลำจึงทำให้มีเนื้อเหนียวไม่หักง่ายและมีแรงดีดคืนตัว ชาวเอเซียจึงใช้ไม้ไผ่เป็นคันกระสุน คันธนู และลูกธนู ซึ่งมีทำกันในหลายประเทศ เช่น ธนู ลูกธนูของญี่ปุ่นและเกาหลี เป็นอาวุธที่ทำจากไม้ไผ่ที่ใช้ความประณีตในการคัดเลือกไม้ที่มีคุณภาพและต้องใช้ช่างที่มีฝีมือสูงในการเหลาและตัดไม้ไผ่ให้เป็นคันธนูหรือคันหน้าไม้เพื่อดีดลูกธนูหรือลูกศร

คันธนู
เช่นเดียวกัน อาวุธที่ทำจากไม้ไผ่ของไทยที่ใช้กันแพร่หลายชนิดหนึ่งคือ กระสุน ซึ่งคันกระสุนทำด้วยไม้ไผ่แก่เนื้อดี นำมาเหลาและดัดให้ได้รูปทรงและมีขนาดเหมาะตามความต้องการ กระสุนจะใช้ยิงด้วยกระสุนที่ปั้นด้วยดินเหนียวเป็นลูกกลมขนาดประมาณเท่าหัวแม่มือ กระสุนเป็นอาวุธโบราณอย่างหนึ่งที่ใช้ยิงคนและยิงสัตว์ต่างๆ ที่ใช้กันทั่วไปในขนบท นอกจากนั้นยังนำไม้ไผ่มาทำเป็นอาวุธ จำพวกลูกดอกและลำกล้องเป่าลูกดอก ใช้เป็นไม้กระบอง ไม้ตะพดจนถึงการนำไม้ไผ่มาปาดให้แหลมเป็นปากฉลามที่เรียกว่า "ขวาก" ใช้ดักคนหรือสัตว์ที่รุกล้ำเข้ามาในเขตหวงห้าม เป็นต้น



พิธีกรรมและความเชื่อ


กระด้ง
งานไม้ไผ่ที่ใช้เกี่ยวกับพิธีกรรมและความเชื่อไม้ไผ่มีความสัมพันธ์กับความเชื่อของชาวเอเซียมาช้านาน โดยเฉพาะชาวจีนและญี่ปุ่นนั้น ไผ่เป็นไม้มงคลและเป็นสัญลักษณ์ของความแหลมและเจริญงอกงามของสติปัญญาดุจเดียวกับความแหลมคมของหนามไผ่ หน่อไผ่และการเติบโตอย่างรวดเร็ว
สำหรับคนไทยนั้น ไม้ไผ่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น คนไทยโบราณมักสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่ เมื่อทารกคลอดออกมาจากครรภ์มารดาวินาทีแรกที่เรียกว่า ตกฟาก นั้นเพราะทารกตกลงบนพื้นเรือนที่ทำด้วยไม้ไผ่ที่สับเป็นซี่ๆ ที่เรียกว่า "ฟาก" นั่นเอง
หลังจากนั้น เมื่อถึงเวลาตัดสายสะดือหมอตำแยก็ใช้ไม้ไผ่มาผ่าเป็นซีก แล้วรนไฟ เพื่อใช้ตัดสายสะดือทารก แทนการใช้เหล็กหรือของมีคมอื่นๆ ความเชื่อนี้มีอยู่ทั่วไปในหลายประเทศในเอเซีย หลังจากตัดสายสะดือแล้วคนไทยจะนำเด็กนอนไว้ใน "กระด้ง" ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่คลุมด้วยแหและเพื่อป้องกันผีร้าย สิ่งเหล่านี้เป็นความเชื่อเกี่ยวกับไม้ไผ่ที่มีมาช้านาน เมื่อเกิดอยู่นานร่างกายชราภาพก็ต้องใช้ไม้ไผ่มาทำเป็นไม้เท้า ครั้นถึงเวลาตายก็ต้องนำศพไปวางบนแคร่ไม้ไผ่ เวลาเผาศพ ก็ต้องตัดไม้ไผ่ลำตรงๆ สดๆ สำหรับแทงศพกลับไปกลับมาเพื่อให้ไหม้ให้หมด เรียกไม้ไผ่ชนิดนี้ว่า "ไม้เสียบผี"
ประเพณีค้ำโพธิ์ เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ในตอนเช้าชาวบ้านจะทำบุญตักบาตร ตอนบ่ายเล่นกีฬา และช่วยกันเอาไม้ไผ่ลำโตๆ มาค้ำกิ่งโพธิ์ตามวัดไม่ให้กิ่งโพธิ์หัก ถือว่าได้บุญแรงและเชื่อกันว่าจะมีอายุยืน ประเพณีแห่บั้งไฟของชาวอีสาน จะนำไม้ไผ่ลำโตๆ ตรงๆ ทั้งลำตกแต่งให้สวยงาม บรรจุดินปืนไว้ในลำไม้ไผ่แห่ไปยังสถานพิธีแล้วจุดแข่งขันกัน บั้งไฟจะพุ่งขี้นสู่ท้องฟ้าเพื่อขอฝน


ขบวนแห่บั้งไฟ

เฉลวปักปากหม้อ
ประเพณีผ้าป่าผีตายของชาวปทุมจะมีการนำไม้ไผ่มาจักสานเป็นหุ่นรูปคนตาย แล้วเอากระดาษสีปิดตกแต่งให้สวยงามยกลงเรือมีกระจาดสานด้วยไม้ไผ่ใส่ส้มสูกลูกไม้ เอากิ่งไผ่มาปักแล้วพาดผ้าบังสุกุลแห่ไปวัดหามไปยังป่าช้านิมนต์พระชักผ้าบังสุกุลและทำพิธีเผาศพ(หุ่น) ตอนกลางคืน เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย
ประเพณีทำขวัญข้าว เมื่อข้าวเริ่มตั้งท้อง ชาวนาจะเอาไม้ไผ่มาสานชะลอมแล้วนำเครื่องแต่งตัวของหญิง เช่นแป้ง น้ำมันใส่ผม น้ำอบไทย หวี กระจกใส่ในชะลอมพร้อมด้วยขนมหวาน ๒ - ๓ อย่าง ส้มเขียวหวาน ส้มโอแกะกลีบ ปักเสาไม้ไผ่แล้วเอาชะลอมแขวนไว้ในนา เพื่อให้แม่พระโพสพแต่งตัวและเสวยสิ่งของนั้น จะได้ออกรวงได้ผลดียาหม้อไทยแผนโบราณ จะใส่หม้อดินเอาใบตองปิดปากหม้อเอาตอกรัดไว้ ทำพิธีลงยันต์เสกเป่า แล้วเอาตอกไม้ไผ่มาขัดไขว้เป็นรูปยันต์ ๕ มุม ปักไว้ที่ปากหม้อ เขาเรียกว่า "เฉลว"


ลักษณะเฉลวแบบหนึ่งที่ใช้ไม้ไผ่สานจักเป็นตอกเส้นบางๆสานตาเหลี่ยมหรือตาชะลอมมัดไว้กับไม้ไผ่ปักให้แน่นในแปลงดำนา หมายถึงการปัดรังควานสิ่งชั่วร้ายที่จะทำให้ข้าวไม่งอกงาม รวมทั้งเป็นเครื่องหมายที่ทำให้เจ้าของนาเป้นศิริมงคลในการประกอบอาชีพ

เมรุนกสักกะไดลิงค์
ประเพณีเอาศพเจ้านายชั้นสูงของภาคอีสาน จังหวัดอุบลราชธานี จะมีเมรุเรือนแก้วบนหลังนกสักกะไดลิงค์ วิธีสร้างเมรุนกสักกะไดลิงค์จะเอาไม้ไผ่มาสานเป็นรูปโครงนกและจะเผาทั้งศพและเมรุนกสักกะไดลิงค์ไปพร้อมๆ กัน
ประเพณีเผาศพพระ ก็ใช้กระบอกไม้ไผ่บรรจุดินปืนเป็นเชื้อเพลิงผูกติดกับลวดสลิงจุดไฟให้เชื้อเพลิงผลักดันเอากระบอกไม้ไผ่วิ่งไปตามเส้นลวดอย่างรวดเร็ว ชนปราสาทโลงศพจำลองที่เรียกว่า "จุดลูกหนู" มีการแข่งขันกันอย่างมโหฬารในงานศพแถวจังหวัดปทุมธานี

ลูกหนูทำด้วยไม้ไผ่ความยาว ๑ ๒ ปล้องตัดเก็บข้อไว้หัวและท้าย เจาะรูบรรจุดินปืน





ยาและอื่น ๆ
ไม้ไผ่ที่ใช้เป็นยารักษาโรค คนไทยใช้รากไผ่ และใบไผ่ผสมกับสมุนไพรบางชนิดใช้เป็นยารักษาโรค
ไม้ไผ่ที่นำมาทำอาหาร คนไทยและชาวเอเซียนำหน่อไม้มาทำเป็นอาหารต่างๆ จนถึงใช้กระบอกไม้ไผ่เป็นภาชนะประกอบอาหาร ได้แก่ ใช้เป็นกระบอกข้าวหลาม เป็นต้น
ไม้ไผ่ที่นำมาใช้ในงานอุตสาหกรรม ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบที่หาได้ไม่ยาก และมีราคาไม่แพง ชาวเอเซียจึงนำไม้ไผ่มาประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวประเภทเครื่องจักสาน เครื่องเรือน และเครื่องใช้ต่างๆ จนถึงใช้เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม เช่น ใช้ทำเยื่อกระดาษ ใช้เป็นเครื่องเรือนและเครื่องใช้ที่ผลิตด้วยเครื่องจักร

ข้าวหลาม
ไม้ไผ่เป็นคติสอนใจ เมื่อเจริญเติบโตเป็นกอใหญ่ก็แตกหน่อทวีคูณขึ้นเรื่อยๆลำต้นที่เป็นแม่เปรียบเสมือนหัวแม่มือให้ลูก(หน่อ) แม่จะหาอาหารมาทำนุบำรุงให้เจริญเติบโตแก่ลูกแล้วก็ตายไป แต่ก็ยังมีน้องต่อไปอีก เหมือนนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางและนิ้วก้อย แม่จะมีส่วนเลี้ยงหน่อไม้รวมทั้งลูกคนแรกด้วย จนวาระสุดท้ายที่เรียกว่า "กอไผ่ตายขุยทั้งกอ" เมล็ดไผ่ก็จะงอกเจริญเติบโตเป็นลำไผ่ แตกเป็นกอตามธรรมชาติอีกนับว่า กอไผ่เป็นระบบสังคมที่มีวัฒนธรรมไม่ผิดกับวัฒนธรรมของมนุษยชาติ
คำพังเพยที่ว่า "ไผ่ลำเดียวไม่เป็นกอ ปอต้นเดียวไม่เป็นป่า " จะเห็นว่าไผ่แต่ละลำของกอไผ่นั้นต่างช่วยเหลือประคับประคองซึ่งกันและกัน โอกาสที่ลมพายุจะพัดให้โค่นล้มนับว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีลำต้นคอยพยุงค้ำจุนและยึดเหนี่ยวกันอยู่ ผิดกับต้นไม้ใหญ่ๆ ที่อยู่โดดเดี่ยวจะถูกลมพายุพัดพาหักโค่นลงได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ ครูจึงสอนนักเรียนในเรื่องความสามัคคีว่า แขนงไผ่อันเดียวหักได้ ถ้าเอาแขนงไผ่หลายๆ อันมามัดรวมกันไม่สามารถจะหักออกได้ ครูหลายคนบอกว่าการสั่งสอนอบรมนักเรียนให้เป็นคนดี ขยันหมั่นเพียรอยู่ในระเบียบวินัยต้องอาศัย " ต้นยอ กอไผ่ " หมายความว่า ครูต้องรู้จักชมเชยสรรเสริญเยินยอนักเรียนที่กระทำความดี เพื่อให้เกิดกำลังใจและเป็นตัวแอย่างที่ดีแก่คนอื่นด้วย ถ้านักเรียนคนใดชมก็แล้ว เอาใจก็แล้ว ยังดื้อด้าน เถลไถลออกนอกลู่นอกทางก็ต้องใช้กอไผ่ (เรียวไผ่) เสียบ้างให้หราบจำ เพราะคำโบราณที่ว่า "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี " ยังมีประโยชน์อยู่


แม้ไผ่จะโตเร็วและปลูกง่ายก็ตามแต่ปริมาณการใช้ไม่สมดุลกับไผ่ที่มีอยู่แล้ว ในอนาคตโลกอาจจะขาดแคลนไม้ไผ่ก็ได้ เฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศไทยซึ่งเคยเป็นแหล่งที่มีไม้ไผ่หลายสกุลหลายชนิด แต่ด้วยการใช้ไผ่อย่างฟุ่มเฟือยและไม่ใคร่เห็นคุณค่า ทุกวันนี้ "ไม้ไผ่" จึงเป็นวัตถุดิบที่เริ่มขาดแคลนแล้ว และหากไม่มีการปลูกชดเชยและใช้ไม้ไผ่อย่างเห็นคุณค่า ประเทศไทยก็อาจจะขาดแคลนไม้ไผ่วัตถุดิบธรรมชาติที่มีความผูกพันกับชีวิตของคนไทยมาช้านานก็เป็นได้ สมควรที่เราคนไทยจะได้มองเห็นคุณค่าของไม้ไผ่ งานไม้ไผ่ ก่อให้เกิดการอนุรักษ์ไผ่และงานไม้ไผ่ให้คงอยู่สืบไป



๑. คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, สำนักงาน. งานไม้ไผ่ในชีวิตคนเอเซียและแปซิฟิค. ม.ป.พ, (๒๕๓๗). ๓๖ หน้า ภาพประกอบ (จัดพิมพ์ประกอบนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมงคลวโรกาสวันเฉลิมพระชนม์พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๗ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย)

๒. ทองคำ พันนัทธี. "ไม้ไผ่กับชีวิตไทย". วัฒนธรรมไทย. ป.๓๕ ฉ.๑๒ (กันยายน ๒๕๔๑) หน้า ๑๙ - ๒๑.
๓. สนม ครุพเมือง, ผู้รวบรวมและเรียบเรียง. สารานุกรมของใช้พื้นบ้านไทยในอดีตเขตหัวเมืองฝ่ายเหนือ. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ จำกัด. ๒๕๓๑. ๓๑๑ หน้า.